เกี่ยวกับมูลนิธิ
ประวัติความเป็นมา และการก่อตั้งมูลนิธิ
- 2522 - สถาบันแสงสว่างเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับการสงเคราะห์ครอบครัวเด็ก และการส่งเสริมพัฒนาการของทารกแรกเกิดตามโรงพยาบาลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาพิเศษ
- 2525 – 2528 สหทัยมูลนิธิ และผู้ปกครองจึงร่วมมือกันจัดกลุ่มสอนเด็กพิเศษขึ้นในลักษณะกลุ่มเล่น เริ่มแรกด้วยนักเรียน 5 คน โดยใช้สถานที่บ้าน คุณแคทเธอรีน แบลงชาร์ด
- 2588 - เปิดดำเนินการเป็นมูลนิธิมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยใช้ชื่อว่า “ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ”
- 2535 - อาจารย์ดาราวรรณ ธรรมารักษ์ ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้กรุณาให้ยืมใช้ที่ดินเป็นเวลา 30 ปี เพื่อสร้างอาคารใช้เป็นที่ทำการของมูลนิธิสถาบันแสงสว่างจนถึงปัจจุบัน
มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ก่อตั้งเป็นโครงการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษในปี พ.ศ. 2522
และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิสถาบันแสงสว่างในปี พ.ศ. 2528
โดยศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว
ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ได้มอบปรัชญาการดำเนินงานของมูลนิธิไว้ว่า
“ผู้ด้อยโอกาสก็มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้พร้อมโอกาส”
ความเป็นมาของมูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
สถาบันแสงสว่างเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เนื่องด้วย (โฮลท์) สหทัยมูลนิธิ ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการสงเคราะห์ครอบครัวเด็ก และการส่งเสริมพัฒนาการของทารกแรกเกิดตามโรงพยาบาลนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาพิเศษ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถรับการส่งเสริมพัฒนาการด้วยวิธีปกติได้ ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีลูกเป็นเด็กพิเศษประสบปัญหาในการเลี้ยงดูลูก และการหาสถานศึกษาสำหรับลูก ดังนั้น (โฮลท์) สหทัยมูลนิธิ และผู้ปกครองจึงร่วมมือกันจัดกลุ่มสอนเด็กพิเศษขึ้นในลักษณะกลุ่มเล่น เริ่มแรกด้วยนักเรียน 5 คน โดยใช้สถานที่บ้าน คุณแคทเธอรีน แบลงชาร์ด ต่อมาได้ขยายเป็นโครงการทดลองสอนเด็กพิเศษ ภายใต้การดูแลของสหทัยมูลนิธิ และได้ย้ายมาดำเนินการ ณ โบสถ์พระคริสต์ เลขที่ 11 ถนนคอนแวนต์ กรุงเทพฯ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการสำหรับเด็กพิการทุกประเภทเป็นแห่งแรกในประเทศไทย สถาบันแสงสว่างต้องโยกย้ายหลายครั้ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2528 เนื่องจากสถานที่เช่าเดิมคับแคบหรือหมดสัญญาเช่า จวบจนกระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2528 จึงได้รับอนุมัติจากระทรวงมหาดไทย ตามนัยหนังสือที่ 0402/9975 ให้เปิดดำเนินการเป็นมูลนิธิมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยใช้ชื่อว่า “ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ” ต่อมาอาจารย์ดาราวรรณ ธรรมารักษ์ ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้กรุณาให้ยืมใช้ที่ดินเป็นเวลา 30 ปี เพื่อสร้างอาคารใช้เป็นที่ทำการของมูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน
คณะกรรมการก่อตั้งมูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
- ท่านผู้หญิงถวิล ประกอบนิติสาร
- ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว
- ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญสม มาร์ติน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิรมล ชยุตสาหกิจ
รายนามคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันแสงสว่าง
- ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ประธานกิตติมศักดิ์
- นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการ
- รศ.พญ.คุณหญิงโชติมา ปัทมานันท์ รองประธานกรรมการ
- ผศ.นิรมล ชยุตสาหกิจ กรรมการและเลขาธิการ
- นางบุญรักษา สวัสดิสุข กรรมการและเหรัญญิก
- นางประทุม จิตติวาณิชย์ กรรมการ
- นายฉายศักดิ์ แสง – ชูโต กรรมการ
- ดร.วรนาท รักสกุลไทย กรรมการ
- หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์ กรรมการ
- รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ กรรมการ
- นางสุดามณี พิศาลบุตร กรรมการ
- นางจินตหรา เตชะทักขิญพันธุ์ กรรมการ
แนวคิดการดำเนินงาน
- 1. เด็กพิเศษทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีพัฒนาการสูงสุดเต็มศักยภาพ รู้จักพึ่งตนเองเป็นอิสระ และมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่าผู้หนึ่งในสังคม
- 2. เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน วิธีฝึกอบรมจัดเป็นโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล ( Individual Education Program – IEP ) ซึ่งครูผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรจากหลายหน่วยงานหลายสาขาทำงานร่วมกัน เพื่อแสวงหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดเพื่อการพัฒนาเด็ก
- 3. ส่งเสริมผู้ปกครองและครอบครัวให้มีบทบาท หน้าที่ มีความรับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เพื่อผู้ปกครองจะได้เอาใจใส่ชื่นชมต่อลูกที่เป็นเด็กพิเศษเช่นเดียวกับลูกที่เป็นปกติ
- 4. ครูผู้เชี่ยวชาญและบุคลากร ควรมาจากหน่วยงานหลายสาขา ทำงานร่วมกันในการวางแผนการศึกษาที่เหมาะสมในการพัฒนาเด็ก
ขอบข่ายการดำเนินงาน
- 1. ให้บริการทดสอบเด็กก่อนเข้าเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อพิจารณาจัดโปรแกรมการศึกษาตามความเหมาะสม
- 2. จัดโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญาและจิตใจอย่างเช่น กลุ่มเด็กดาวน์ ( Down’s Syndrome ) และความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆ พัฒนาการล่าช้า ( Delay Development ) ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ( C.P. – Celebral Palsy ) ออทิสติก ( Autistic ) สมาธิสั้น ( ADD / ADHD – Attention deficit / Hyperactivity Disorder ) บกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน ( LD – Learing Disabilities ) ตลอดจนความพิการซ้อน ( Multiple Handicapped )
- 3. จัดบริการบำบัดพิเศษ เช่น ฝึกพูด กายภาพบำบัด ดนตรี บำบัดกิจกรรมการเคลื่อนไหว และการสอนเสริมวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชั้นเรียนปกติ
- 4. จัดบริการสำหรับผู้ปกครองในการให้คำปรึกษาแนะแนว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กพิเศษ
- 5. จัดฝึกอบรมครูและบุคลากรเกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ สนับสนุนให้ค้นคว้าวิจัยการสอน อุปกรณ์การสอนและบริการต่างๆ
- 6. ทำงานประสานกับแพทย์และบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิเศษ
- 7. เป็นสถานศึกษาดูงานและฝึกงานของนิสิตนักศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง