วิธีดูแลเด็กออทิสติกที่พ่อแม่ควรรู้

 

  โรคออทิสติก เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่ม พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders : PDDs) หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก มักพบในช่วง 2 ขวบปีแรก มีผลทำให้พัฒนาการทางด้านสังคมและภาษาบกพร่อง มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิด โดยจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน

พัฒนาการทางด้านสังคม

พัฒนาการทางด้านสื่อสาร

พัฒนาการทางด้านพฤติกรรม

การรักษาโรคออทิสติก

   ทุกวันนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นในการรักษาออทิสติกแตกต่างกันไป ผู้เชียวชาญบางท่านให้ความเห็นว่าโรคออทิสติกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันโรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้

  • การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุดในโรคออทิสติก การกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี ได้แก่ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Integration) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) และการฝึกพูด (Speech Therapy) การรักษาทั้งหมดนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง
  • การปรับพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย เช่น โขกศีรษะหรือก้าวร้าว ซึ่งในเด็กออทิสติกจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมต้องกระชับเข้าใจง่ายและทำได้จริง ทั้งนี้พ่อแม่ทุกรายควรได้รับการฝึกทักษะในการปรับพฤติกรรมโดยแพทย์
  • การใช้ยา เนื่องจากโรคออทิสติกเป็นโรคทางพัฒนาการของสมอง ดังนั้นยาจึงจำเป็นที่จะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการสำคัญในเด็กออทิสติก เช่น ยา Risperidone ช่วยควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว ยา Methylphenidate ช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง ทั้งนี้การรักษาด้วยยาจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลและประเมินผลข้างเคียงโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
ช่วงวัยเรียน

เมื่อเด็กออทิสติกเริ่มเข้าสู่วัยเรียน และได้พบปะสังคม เขาก็จะมีพัฒนาการด้านภาษาและสังคมเพิ่มขึ้น สามารถเข้ากลุ่มกิจกรรมร่วมกับเพื่อนฝูง รู้จักการรอคอย รู้จักกฎ กติกาในการเล่นเกม รู้จักการแบ่งปัน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าใจกติกาทางสังคมต่อไป

          ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการเรียนของลูกด้วย โดยร่วมมือกันระหว่างคุณครู มีการปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง สอบถามว่าลูกมีพฤติกรรมหรือมีปัญหาอะไรในการเรียนบ้าง และอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นปัญหา พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างที่บ้านและโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวเด็ก จะได้วางแผนฝึกฝนและแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน และอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากทีมแพทย์ที่ดูแลเด็กด้วย ก็จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นและช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ โดยใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรม อย่างการให้แรงเสริม ให้คำชมเชย ให้รางวัลแก่ลูก ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากทำสิ่งนั้นต่อไปได้ค่ะ

ช่วงวัยรุ่น

เด็กออทิสติกในช่วงวัยรุ่น จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์อย่างมาก เขาจะเริ่มรับรู้และเข้าใจความแตกต่างของตัวเองกับเพื่อนฝูง คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้ข้อมูลแก่ลูก และสอนให้เขาเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงเรื่องความแตกต่างของแต่ละคน ทั้งเรื่องเพศ สภาพร่างกาย และพฤติกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกตื่นเต้นตกใจ ซึ่งจะช่วยให้เขาเตรียมพร้อมและสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั่นเองค่ะ

          การดูแลเด็กออทิสติกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปกว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะทำได้ ขอแค่มีความอดทนและตั้งใจ ใช้หลาย ๆ วิธี และหลาย ๆ กิจกรรม ผสมผสานกันไปแบบบูรณาการ ช่วยกันดูแลร่วมกับคนในครอบครัว ด้วยวิธีที่เหมือนกับการเลี้ยงเด็กทั่วไป ให้ลูกได้รับอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ได้แล้ว ควรฝึกสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่เขาบกพร่อง รวมไปถึงทักษะในการดำรงชีวิต เพื่อให้เขาสามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างปกติ

          ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้มแข็ง อดทน และอย่ายอมแพ้ง่าย ๆ นะคะ การดูแลและฝึกฝนเด็กออทิสติกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ว่าพวกเขาสามารถเติบโต และพัฒนาความสามารถของตัวเองได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความเข้าใจ และความหวังดีให้แก่เขา ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เขาสามารถพัฒนาทักษะและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้ไม่ยากเลยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิภาวดี

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

seven − 3 =