โรคออทิสติก(Autistic)

โรคออทิสติก(Autistic) คืออะไร

          โรคออทิสติก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้านได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร ด้านการเข้าสังคม และด้านการเล่น อาการสามารถจำแนกตามพัฒนาการแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้

  • พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ ไม่ส่งเสียงเรียก บอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
  • พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ
  • พัฒนาการด้านการเล่น เช่น เล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์ 
  • นอกจากนี้โรคออทิสติกสามารถแสดงด้วยอาการอย่างอื่น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่งหรือขาดสมาธิ ร้องกรี้ดเสียงสูง โขกศีรษะ เป็นต้น
พฤติกรรมคล้ายออทิสติกคืออะไร

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เช่น ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับลูก เป็นต้น แต่ให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ One – Way Communication หรือการรับสารเพียงทางเดียว จึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม

 

ออทิสติก VS ออทิสติกเทียม

โรคออทิสติกเกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก “ขาดการกระตุ้น” เป็นหลัก และถึงแม้ว่าทั้งสองอย่างจะมีลักษณะอาการคล้ายกัน แต่เด็กที่เป็นออทิสติกเทียมหากได้รับ “การกระตุ้น” ที่เหมาะสมถูกทางในระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะสามารถกลับมาเป็นเด็กปกติได้ ในขณะที่เด็กออทิสติกยังคงมีพฤติกรรมที่ต่างจากเด็กปกติ ถึงแม้จะได้รับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการแล้ว อย่างไรก็ตามเด็กที่เป็นออทิสติกหากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมก็สามารถมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้อย่างมาก

 

แนวทางการป้องกันการโรคออทิสติก

ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการแก้ไขหรือป้องกันโรคออทิสติกได้อย่างแน่ชัด ปัจจัยที่สำคัญของการเกิดโรคมาจากการผิดปกติของยีนที่เหนือการควบคุม ในขณะตั้งครรภ์ พ่อและแม่จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะลดความเสี่ยงและแนวโน้มในการเกิดโรคออทิสติกได้ ดังนี้

  1. ควรฝากครรภ์ และตรวจสุขภาพกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  2. รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการและออกกำลังกาย
  3. งดการใช้ยาขณะตั้งครรภ์ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  4. หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด
  5. เมื่อเจ็บป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การรักษาโรคออทิสติก

กลุ่มโรคออทิสติก ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงให้ความสำคัญ และเน้นการเสริมสร้างพัฒนาการและปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ที่เกิดโรคอยู่ในสภาวะที่ปกติมากที่สุด โดยมีแนวทางดังนี้

  1. สร้างเสริมพฤติกรรมที่ดี และลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแสดงออกของคนใกล้ชิดในเชิงบวก เพื่อเกิดการเรียนรู้และยอมรับ
  3. ฝึกพัฒนาการทางด้านภาษา เพื่อสื่อสารและสามารถแสดงออกในสิ่งที่ต้องการได้มากขึ้น
  4. การใช้ยารักษาโดยจะพิจารณาตามอาการของเด็กแต่ละคน เพื่อช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และทำให้การทำพฤติกรรมบำบัดทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิภาวดี , โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลธนบุรี

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

10 + 11 =